กระบวนการที่ใช้ในการเรียนการสอน

       กระบวนการ คือ แนวทางดำเนินการเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างมีลำดับขั้นตอนที่ต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นจนแล้วจบ โดยขั้นตอนดังกล่าวมีการทดลองใช้แล้วพบว่าช่วยให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพ นำไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมาย เช่น
1. กระบวนการวิทยาศาสตร์ ประกอบด้วย
1. กำหดปัญหา เป็นขั้นให้นักเรียนได้มองเห็นปัญหาเกี่ยวกับสถานการณ์หรือเรื่องที่จะศึกษา
2. ตั้งสมมติฐาน เป็นการคาดคะเนคำตอบจากปัญหาที่จะศึกษา
3. รวบรวมข้อมูล เป็นขั้นให้นักเรียนรวบรวมข้อมูลต่างๆ โดยการศึกษาค้นคว้าหรือทดลอง
4. วิเคราะห์ข้อมูล เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากขั้นที่ 3 เพื่อใช้อธิบาย สนับสนุนสมมติฐาน
5. สรุปผล เป็นการสรุปความหมาย หลักการ หรือประเด็นสำคัญต่างๆ ของเรื่องที่ศึกษา
2. กระบวนการคณิตศาสตร์ มี 2 กระบวนการย่อย คือ
2.1 กระบวนการสร้างทักษะคำนวณ ประกอบด้วย
                 1) ตรวจสอบความคิดรวบยอด เป็นขั้นให้นักเรียนได้เข้าใจเกี่ยวกับเครื่องหมาย สัญลักษณ์   ศัพท์สัจพจน์ หรือนิยามต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกฎ สูตร หรือทฤษฎีที่จะสอน
                  2) สรุปเป็นกฎ สูตร หรือทฤษฎีบท เป็นการให้นักเรียนสรุปกฎ สูตร หรือทฤษฎีต่างๆ
                  3) ฝึกการใช้กฏ สูตร หรือทฤษฎีบท เป็นการนำกฎ สูตร หรือทฤษฎีไปใช้แก้ปัญหา
                  4) ปรับปรุงแก้ไข เป็นการตรวจสอบคำตอบหรือหาข้อบกพร่องในแต่ละขั้นตอนของการฝึก   เพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้น
2.2 กระบวนการแก้โจทย์ปัญหา ประกอบด้วย
                  1) วิเคราะห์โจทย์ เป็นการวิเคราะห์เพื่อให้ทราบว่าโจทย์กำหนดอะไรให้บ้าง โจทย์ถามหาอะไร
                  2) กำหนดขั้นตอนการปฏิบัติ เป็นการวางแผนเพื่อจะหาคำตอบนั้นเป็นลำดับขั้นตอน
                  3) ลงมือปฏิบัติ เป็นการปฏิบัติตามขั้นตอนที่ได้วางแผนไว้ในขั้นที่ 2
                  4) ตรวจสอบคำตอบ เป็นขั้นให้นักเรียนได้ตรวจสอบความถูกต้องของคำตอบและปรับปรุงแก้ไข
 3. กระบวนการสร้างความคิดรวบยอด ประกอบด้วย
        1. สังเกต เป็นขั้นที่ครูเสนอตัวอย่างต่างๆ ทั้งที่เป็นลักษณะของความคิดรวบยอดนั้น และไม่ใช่
        2. จำแนกความแตกต่างและหาลักษณะร่วม เป็นการให้นักเรียนระบุว่า จากตัวอย่างที่ยกมาทั้งหลายนั้น มีอะไรบ้างที่เป็นสิ่งที่แตกต่างกัน และอะไรบ้างที่เป็นสิ่งที่เหมือนกัน
        3. ระบุความคิดรวบยอด เป็นการให้นักเรียนสรุปภาพรวมเกี่ยวกับความเหมือนเหล่านั้น เป็นวิธีการ หลักการของความคิดรวบยอด หรืออธิบายเกี่ยวกับความคิดรวบยอดนั้นๆ
        4. ทดสอบและนำไปใช้ เป็นการอธิบายเกี่ยวกับความคิดรวบยอดนั้นอีกครั้ง แล้วจึงนำไปใช้ต่อไป
4. กระบวนการเรียนความรู้ความเข้าใจ ประกอบด้วย
        1. สังเกตตระหนัก เป็นขั้นให้นักเรียนเล็งเห็นความสำคัญ ความจำเป็นของสิ่งที่จะเรียน และกำหนดเป้าหมายในการแสวงหาคำตอบจากข้อมูลหรือปัญหาที่ครูกำหนดให้
        2. วางแผนปฏิบัติ เป็นการวางแผนปฏิบัติเพื่อหาคำตอบในสิ่งที่ครูกำหนด
        3. ลงมือปฏิบัติ เป็นการปฏิบัติตามแนวทางหรือวิธีการที่ได้วางแผนไว้ หรือตามที่ได้รับมอบหมาย เช่น การไปศึกษาค้นคว้า การสัมภาษณ์ ฯลฯ
        4. พัฒนาความรู้ความเข้าใจ เป็นการนำความรู้ที่ได้มารายงาน อภิปรายเชิงแปลความ ตีความ ขยายความ วิเคราะห์ หรือสังเคราะห์ เพื่อให้เกิดความเข้าใจแจ่มแจ้งยิ่งขึ้น
        5. สรุป เป็นการสรุปสาระสำคัญที่ควรรู้ หรือเป็นคำตอบของคำถามที่เราต้องการ แล้วจดบันทึกไว้
5. กระบวนการตระหนัก/สร้างเจตคติ ประกอบด้วย
        1. สังเกต เป็นขั้นเสนอข้อมูลต่างๆ แก่ผู้เรียน เพื่อกระตุ้นให้ตระหนักในสิ่งที่จะเรียน เช่น ใช้คำถาม รูปภาพ ยกตัวอย่างเหตุการณ์ เป็นต้น
        2. วิเคราะห์วิจารณ์ เป็นการกระตุ้นให้ผู้เรียนได้มีการอภิปรายจากข้อมูล เหตุการณ์ สถานการณ์นำเสนอ
        3. สรุป เป็นการสรุปแนวคิด หลักการ การกระทำ แนวปฏิบัติที่น่าจะยึดถือ ด้วยเหตุผล
6. กระบวนการปฏิบัติ ประกอบด้วย
        1. สังเกตรับรู้ เป็นขั้นให้ผู้เรียนได้รู้จักกับเครื่องมือหรืออุปกรณ์ ขั้นตอนการปฏิบัติ วิธีปฏิบัติ ข้อควรระวัง ความสำคัญของสิ่งที่จะเรียนหรือปฏิบัติ
        2. ทำตามแบบ เป็นขั้นให้นักเรียนปฏิบัติตามครู หรือทำตามแบบ เช่น ตัวอย่าง เทป วิดีโอ ขั้นตอนหรือวิธีการ
        3. ทำเองโดยไม่มีแบบ เป็นการให้นักเรียนฝึกปฏิบัติด้วยตนเอง ตั้งแต่ต้นจนครบกระบวนการทำงาน ครูเป็นเพียง ผู้คอยชี้แนะ                       
7. กระบวนการ 9 ขั้น ประกอบด้วย
        1. ตระหนักในปัญหาและความจำเป็น เป็นขั้นที่ครูเสนอข้อมูลต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนได้เล็งเห็นปัญหาและความสำคัญของสิ่งที่จะเรียน
        2. คิดวิเคราะห์วิจารณ์ เป็นขั้นการกระตุ้นให้ผู้เรียนได้มีการวิเคราะห์วิจารณ์ ระบุองค์ประกอบย่อยๆ ของการทำงาน หรือสาเหตุต่างๆ ของปัญหา
        3. สร้างทางเลือกหลายหลาก เป็นขั้นให้นักเรียนค้นหาวิธีการทำงานตามองค์ประกอบย่อยๆ ในขั้นที่ 2 หรือคิดหาวิธีแก้ปัญหาในแต่ละสาเหตุอย่างหลายหลาก
        4. ประเมินและเลือกทางเลือก เป็นขั้นที่นักเรียนมีการประเมิน และเลือกวิธีการที่คิดว่าเหมาะสมและดีที่สุดในการทำงานนั้นๆ หรือในการแก้ปัญหานั้นๆ
        5. กำหนดและลำดับขั้นตอนปฏิบัติ เป็นขั้นให้นักเรียนวางแผนการทำงาน หรือแก้ปัญหาตามวิธีการที่เลือกไว้
        6. ปฏิบัติด้วยความชื่นชม เป็นขั้นที่นักเรียนลงมือปฏิบัติตามขั้นตอนต่างๆ ที่วางไว้
        7. ประเมินระหว่างปฏิบัติ เป็นขั้นให้นักเรียนบันทึกผลการทำงาน หรือการแก้ปัญหาในแต่ละขั้นตอน พร้อมทั้งมีการตรวจสอบความถูกต้อง หรือความเหมาะสมด้วย
        8. ปรับปรุงให้ดีขึ้นอยู่เสมอ จากขั้นที่ 7 เมื่อพบว่าการดำเนินงานขั้นตอนไหนบกพร่องก็ให้รีบปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น
        9. ประเมินผลรวมเพื่อเกิดความภูมิใจ เป็นขั้นให้นักเรียนสรุปผลการทำงาน หรือการแก้ปัญหาทั้งหมด แล้วนำเสนอผลงานนั้น
8. กระบวนการสอนเพื่อการสื่อสาร เป็นขั้นตอนของการสอนภาษา เช่น ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ประกอบด้วย
        1. นำเข้าสู่บทเรียน (Warm up) เป็นขั้นกระตุ้นหรือจูงใจให้ผู้เรียนเกิดความสนใจ ความต้องการเล็งเห็นความสำคัญและประโยชน์ในสิ่งที่จะเรียนนั้น
        2. ขั้นนำเสนอบทเรียน (Presentation) เป็นขั้นให้นักเรียนได้รู้จัก และทำความเข้าใจในสิ่งที่จะเรียน เช่น ความหมายของคำกลุ่มคำ ประโยค ถ้อยคำสำนวน สัญลักษณ์ รูปภาพ เครื่องหมาย ความหมายของแบบฟอร์ม องค์ประกอบหรือหลักการต่างๆ เป็นต้น
        3. ขั้นฝึก (Practice) เป็นขั้นฝึกปฏิบัติงานต่างๆ ทางภาษา ให้เกิดความชำนาญ ถูกต้องและแม่นยำ เช่น ฝึกทักษะการพูด การฟัง การอ่าน หรือการเขียนเกี่ยวกับสิ่งที่ครูกำหนดให้
        4. การใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร (Production) เป็นการนำเอาความรู้จากสิ่งที่ได้เรียนไปใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น เช่น จัดแสดงผลงาน รายงานผลงาน ตรวจผลงานของคนอื่น ใช้ในการติดต่อสื่อสารกับบุคคลอื่น หรือประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ต่างๆ เป็นต้น


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ตัวอย่างแบบประเมินแผนการจัดการเรียนรู้ด้วยตนเอง